สำรวจกองทุนหุ้นจีน มีอะไรให้เลือกลงทุนบ้าง ?
ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 มาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีจังหวะปรับฐานระยะสั้นไปบ้าง แต่โดยภาพรวมกองทุนหุ้นจีนส่วนใหญ่ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศจีนที่สูงมาก ภาพรวมรายได้เฉลี่ยของคนจีนต่อคนก็สูงขึ้น นอกจากนี้ จีนเองก็มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมายที่น่าสนใจ
FinVest ได้เคยแนะนำความน่าสนใจของกองทุนหุ้นจีนไปแล้ว สำหรับเพื่อนนักลงทุนที่ยังไม่ได้อ่าน ติดตามได้ “จัดเต็ม 6 อันดับกองทุนจีนปี 2020 ที่ถึง COVID-19 จะมา แต่ทั้งแรงทั้งปังสุด ๆ”
ปัจจุบันกองทุนจีนมีทั้งหมดกี่กองทุน?
หากอ้างอิงจาก Morningstar กองทุนจีน (China Equity) รวมประเภทที่เป็นกองทุนประหยัดภาษีและทั้งที่จ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล จะมีทั้งหมดอยู่ถึง 53 กองทุน เรียกว่าจีนเป็นประเทศที่นักลงทุนชาวไทยให้ความสนใจสูงมากทีเดียว (นับจากจำนวนกองทุน ลำดับต่อมาคือ กองทุนที่ลงในญี่ปุ่นและอเมริกา)
กองทุนจีนมีเยอะขนาดนี้แล้วเราจะเลือกกองทุนจีนอย่างไรดี?
ทำความเข้าใจก่อนว่า “หุ้นจีน” ที่กองทุนในประเทศไทยไปลงทุน ทั้งที่ไปลงทุนทางตรงหรือทางอ้อมด้วยการไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกที นั้นมีหลายประเภท
ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างกันได้แก่
- A-Share: บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งอยู่ในประเทศจีน และหุ้นของบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้น นอกจากนี้ จะซื้อขายด้วยสกุลเงินหยวน (Renminbi) (หากซื้อขายด้วยสกุลเงินต่างประเทศ ก็จะเรียนกว่า B-Share)
- H-Share: บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งอยู่ในประเทศจีน แต่หุ้นของบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จะซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลล่าร์ฮ่องกง (HKD) *หมายเหตุ ปัจจุบันหลายบริษัทมีหุ้นอยู่ทั้ง A-Share และ H-Share
- China ADRs: ปัจจุบันหลายบริษัทในประเทศจีนก็มีการจดทะเบียนหลักทรัพย์ของตนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ New York Stock Exchange และ NASDAQ ในรูปแบบของ ADR (American Depository Receipt) ซึ่งเป็นตราสารชนิดหนึ่งให้ผลตอบแทนเหมือนกับการซื้อหุ้นของบริษัทจากต่างประเทศ ช่วยให้นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างประเทศได้
- Red Chips: บริษัทที่มีกิจการหรือประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศจีน แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศจีน และหุ้นของของบริษัทจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และมีรัฐบาลจีนถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 25%
- P-Chips: บริษัทของเอกชนที่ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศจีน แต่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น Cayman, Bermuda, British Virgin และหุ้นของบริษัทจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
- S-Chips: คล้ายกับ P-Chips ข้อแตกต่างคือหุ้นของบริษัทจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
ซึ่งความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจที่มีความแตกต่างกันทำให้กองทุนที่มีการลงทุนในประเทศจีนนั่นมีความหลากหลาย
กองทุนที่มีคำว่า “CHINA” อยู่ในชื่อกองทุน ของแต่ละ บลจ. เหมือนกันหรือไม่?
ตอบได้สั้นๆ ก่อนเลยว่า “ไม่เหมือน” เพราะเหตุใด เราลองมาดูกองทุนตัวอย่างกัน
ตัวอย่าง ONE-CHINA, K-CHINA, KFACHINA-A
ONE-CHINA เป็นกองทุน Feeder Fund ที่ไปลงทุนในกองทุนหลัก “Hang Seng H-Share Index ETF” ซึ่งเป็น ETF ที่มุ่งสร้างผลตอบแทนเทียบเคียงดัชนี Hang Seng เท่ากับว่า การลงทุนใน ONE-CHINA นักลงทุนก็จะลงทุนเฉพาะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนั่งเอง
K-CHINA เป็นกองทุน Feed Fund ที่ไปลงทุนในกองทุนหลัก “JPMorgan Funds – China Fund, Class JPM China I (acc) – USD” ซึ่งเป็นกองทุนบริหารเชิงรุก (active) มีนโยบายการลงทุนในตราสาารทุนของบริษัทที่ตั้งอยู่หรือดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศจีน ซึ่งจากข้อมูล Fact Sheet ล่าสุด (31 มกราคม 2564) ของกองทุนหลักนั้น จะถือ P Chip ราว 42%, A-Shares 29%, H-Shares 12% รวมถึงยังมี Red Chip, Taiwan อีกด้วย
KFACHINA-A เป็นกองทุน Feed Fund ที่ไปลงทุนในกองทุนหลัก “UBS (Lux) Investment SICAV – China A Opportunity (USD) (Class P – acc)” ซึ่งเป็นกองทุนบริหารเชิงรุก (active) มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน A-Shares เท่านั้น
ดังนี้ นักลงทุนควรจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวน โดยเฉพาะส่วนของนโยบายการลงทุน เพื่อจะได้เข้าใจว่า กองทุนจีนที่เราจะเลือกลงทุนนั้น จริงๆ แล้วลงทุนในหุ้นจีนแบบไหนบ้าง หรือติดตามผ่าน Fanpage FinVest ที่ชี้เป้าการลงทุนและเจาะลึกกองทุนเพื่อความง่าย สะดวกมั่นใจในทุกการลงทุน
นอกเหนือจากประเภทของหุ้นจีนที่กองทุนไปลงทุนแล้ว เราควรพิจารณาจากอะไรอีก?
- นโยบายการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชิงรุก (active) หรือเชิงรับ (passive) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ควรพิจารณา
การบริหารแบบเชิงรุก คือ กองทุนมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าตัวชี้วัดของกองทุน ที่เน้นลงทุนให้สร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด โดยใช้ทักษะฝีมือของผู้จัดการกองทุนมาเป็นตัวตัดสิน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายตามสภาวะของตลาด ไม่ว่าจะผันผวน ขาลง หรือช่วง Sideways เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความผันผวนและความเสี่ยงได้สูง โดยที่มีกองทุนจีนมีการบริหารกองทุนแบบเชิงรุกได้แก่
- ASP-EVOCHINA มีนโยบายบริหารการลงทุนที่มุ่งหวังให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าตัวชี้วัด “MSCI China Total Return” ซึ่งประกอบไปด้วยหลักทรัพย์เกือบ 700 ตัว ครอบคลุมกว่า 85% ของหุ้นจีนทุกประเภททั้งหมด (รายละเอียดของ MSCI China Total Return https://bit.ly/30qGC4J) กล่าวคือนโยบายการลงทุนแบ่งออกเป็น 2 สัดส่วนหลักคือ 1) ลงทุนผ่านกองทุน “MIRAE ASSET CHINA GROWTH EQUITY FUND SHARE CLASS I IN USD” ประมาณ 35% ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้น A-Share ด้าน consumer, healh care และ e-commerce 2) ลงทุนใน “PREMIA CHINA NEW ECON ETF HK” ประมาณ 15% ซึ่งเป็น ETF ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัท New Economy และลงทุนโดยตรงในหุ้นจีนต่างๆ จากการคัดเลือกของผู้จัดการกองทุน ประมาณ 50% ASP-EVOCHINA จึงเป็นกองทุนหุ้นจีนที่ผู้จัดการกองทุนบริหารอย่างใกล้ชิด ด้วยเป้าหมายที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ผลตอบแทนของหุ้นจีนทั้งหมดโดยรวมนั่นเอง
การบริหารแบบเชิงรับ คือ กองทุนมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับตัวชี้วัดของกองทุนที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอ้างอิงกับดัชนี และเป็นการลงทุนผ่าน ETF ที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามดัชนีนั้นๆ เช่น
- K-CHX และ TMBCHEQ ที่มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี FTSE China A50
- ONE-CHINA ที่มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Hang Seng H-Share Index
2. Theme การลงทุนที่เน้นเฉพาะด้าน เช่น
- กลุ่ม IT TCHTECH-A ซึ่งเป็นกองทุน Feeder Fund ของ “Invesco China Technology ETF (CQQQ)” จดทะเบียนใน New York Stock Exchange มีโนบายการลงทุนเน้นไปที่หุ้น A-Share และ B-Share ที่จัดอยู่ในกลุ่ม information technology จากข้อมูล Facsheet ณ 31 ธ.ค. 2020 กองทุน CQQQ ถือหุ้นในกลุ่ม IT ประมาณ 44% และกลุ่ม Conmmunication Services ประมาณ 44%
- กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค TCHCON ซึ่งเป็นกองทุน Feeder Fund ของ “Global X MSCI China Consumer Discretionary ETF” จดทะเบียนใน New York Stock Exchange มีนโยบายการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี MSCI China Consumer Distretionary 10/50 ซึ่งเน้นไปที่สินค้าอุปโภคบริโภค ประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย
- นอกจากนี้ กองทุนจีนบางกองยังมีให้ประเภทกองทุนที่ช่วยประหยัดภาษี (RMF และ SSF) อีกด้วย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านในการคัดเลือกกองทุนจีนต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ รายชื่อกองทุนต่าง ๆ ที่กล่าวมาในบทความนั้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น นักลงทุนควรไปศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวนเพื่อที่จะได้เลือกกองทุนที่ตรงกับกลยุทธ์การลงทุนของเราครับ
บทความเรียบเรียงโดย Run2Wealth
“FinVest” เป็นเครื่องหมายการค้าของ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน โรโบเวลธ์ จำกัด ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องและอยู่ใต้การกำกับของ ก.ล.ต. หมายเหตุ • ผลตอบแทนคาดการณ์ไม่ได้เป็นการการันตีผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
Powered by Robowealth, Medium