1. ความเสี่ยงทั่วไปในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Overall Investment Risk) 

ผู้ใช้บริการที่ลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ทั้งนี้อาจมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงซึ่งรวมถึงการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ สภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เป็นเหตุสุดวิสัยอื่นๆ และเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่น สงคราม จลาจล ความวุ่นวายภายในบ้านเมืองหรือการก่อการร้าย เป็นต้น หรือการลงทุนหลักทรัพย์ในประเทศที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงต่อตลาดและมูลค่าสินทรัพย์สุทธิได้ อนึ่ง ผู้ใช้บริการรับรองและยืนยันในการประเมินของบริษัทว่า ตนมีความเหมาะสมกับการลงทุนในหน่วยลงทุนดังกล่าวและได้รับ การเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงดังกล่าวครบถ้วนทุกประการแล้ว

2. ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตลาดและความผันผวนของราคา (Market Risk /Volatility Risk)

หน่วยลงทุนต่างประเทศที่ผู้ใช้บริการจะเข้าลงทุนเป็นหน่วยลงทุนที่ทำลงทุนและการซื้อขาย ออกโดยหรือจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุน หรือ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ (รวมเรียกว่า “ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ”) ในประเทศที่อาจมีสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และระเบียบที่แตกต่างจากของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ที่หลักทรัพย์ต่างประเทศมีการซื้อขายหรือจดทะเบียนดังกล่าว อาจใช้ดุลยพินิจระงับหรือจำกัดการซื้อขายหลักทรัพยเป็นครั้งคราว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง หรือ ความผันผวน หรือภาวะตกต่ำ หรือการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อปริมาณการซื้อขายและมูลค่าสินทรัพย์สุทธิได้

3. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบการชำระราคาและส่งมอบ (Settlement Risk)

การลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับการส่งคำสั่งซื้อขาย การส่งมอบ และการชำระราคาในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายและระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน ซึ่งผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครองในบางประการ โดยที่ระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวอาจมีการพัฒนาที่ด้อยกว่าหรือมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าและในบางกรณีอาจมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าของประเทศไทย ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการชำระราคาและส่งมอบหน่วยลงทุนอาจสูงกว่าค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระในประเทศไทยหรือสูงกว่าที่ผู้ใช้บริการได้คาดหมายไว้ นอกจากนี้เนื่องจากระบบการชำระราคาและส่งมอบหน่วยลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ อาจส่งผลให้กระบวนการชำระราคาและส่งมอบหน่วยลงทุนอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดหมายไว้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงต่อการไม่สามารถส่งมอบหน่วยลงทุนหรือสินค้าหรือความสับสนในเงื่อนไขและกระบวนการชำระราคาและส่งมอบหน่วยลงทุนตลอดจนการชำระคืนเงินทุนและปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการขาดทุน สูญเสียโอกาส เกิดความล่าช้า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย

4. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับ (Regulatory Risk)

การลงทุนในประเทศต่างๆ หรือในบางประเทศดังกล่าวอาจถูกจำกัดหรือถูกควบคุมในระดับที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งข้อจำกัดหรือการควบคุมดังกล่าวอาจรวมถึง การต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือจากบุคคลอื่นใดก่อนการลงทุน ข้อจำกัดการลงทุนของผู้ใช้บริการต่างชาติในธุรกิจบางประเภท การขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐเพื่อนำเงินได้จากการลงทุนหรือเงินทุนหรือเงินที่ผู้ใช้บริการต่างชาติได้รับจากการขายหลักทรัพย์ต่างประเทศออกนอกประเทศดังกล่าว หรือการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหน่วยลงทุนของผู้ใช้บริการต่างชาติ นอกจากนี้กฎหมายและระเบียบในประเทศเหล่านั้นอาจมีความไม่ชัดเจน ไม่เป็นคุณต่อผู้ใช้บริการ อีกทั้งประเทศต่างๆอาจมีการออกกฎหมายหรือระเบียบใหม่เป็นครั้งคราว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องของขอบเขตและเนื้อหาของกฎหมายหรือระเบียบที่ออกมาใหม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการลงทุน

            นอกเหนือจากข้อจำกัดและการควบคุมตามข้างต้นแล้วในบางประเทศอาจมีการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนไว้อย่างจำกัดหรือน้อยมาก ซึ่งรวมถึงสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีและการขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา นอกจากนี้ความมีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการประสบปัญหาในการดำเนินการฟ้องร้องในชั้นศาลในประเทศนั้นๆ อีกทั้ง ในกรณีที่ผู้ใช้บริการได้รับคำพิพากษาให้ชนะคดีในประเทศหนึ่ง แต่ผู้ใช้บริการอาจต้องดำเนินการให้มีการบังคับตามคำพิพากษาดังกล่าวในประเทศที่ผู้ใช้บริการได้ทำการลงทุน ก็มิได้มีหลักประกันใดๆว่าศาลของประเทศนั้นๆ จะดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ได้รับ

5. ความเสี่ยงเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้ใช้บริการในต่างประเทศ (Risk associated with client assets received or held abroad)

ทรัพย์สินของผู้ใช้บริการที่ได้รับหรือฝากไว้หรืออยู่ภายใต้การเก็บรักษาของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ หรือผู้รับฝากทรัพย์สินต่างประเทศ จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองและการจัดการตามกระบวนการล้มละลายที่บัญญัติตามกฎหมายต่างประเทศรวมถึงหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลของต่างประเทศนั้น ซึ่งอาจแตกต่างจากที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าพ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และกฎหมายหรือหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ดังนั้น ผู้ใช้บริการยอมรับและเข้าใจว่า หากเกิดกรณีที่มีเหตุการณ์ใดที่ส่ง ผลกระทบต่อการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ใช้บริการหรือในกรณีที่ผู้ใช้บริการต้องการจะเรียกร้องทรัพย์สินของผู้ใช้บริการที่เก็บหรือรักษาในต่างประเทศคืนหรือโอนไปยังบุคคลอื่น หรือกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศหรือผู้รับฝากทรัพย์สินต่างประเทศนั้นประสบปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นล้มละลาย ผู้ใช้บริการอาจมีความเสี่ยงในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาและต้นทุนในการดำเนินการ หรืออาจได้รับคืนไม่ครบถ้วนตามประเภท จำนวน หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ผู้ใช้บริการได้รับหรือฝากไว้ในต่างประเทศนั้น ผู้ใช้บริการจึงควรทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องก่อนการตัดสินใจลงทุน

6. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

แม้ว่าผู้ใช้บริการจะลงทุนในหน่วยลงทุนที่ได้มีการจดรับรองโดยองค์กรที่น่าเชื่อซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่ตลาดหลักทรัพย์ในบางประเทศอาจจะมีขนาดเล็กและไม่มีสภาพคล่อง นอกจากนี้สภาพคล่องของหน่วยลงทุนอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น เช่น ลักษณะของหน่วยลงทุน รวมทั้งปัจจัยภายใน และ/หรือ ปัจจัยภายนอกของประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ดังนั้น สภาพคล่องที่มีอยู่น้อยอาจลดความสามารถของผู้ใช้บริการในการซื้อหรือขายหรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับหน่วยลงทุนนั้น หรืออาจทำให้การซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในราคาที่ต้องการหรือที่น่าพอใจ หรือในจำนวนที่ผู้ใช้บริการต้องการเป็นไปได้ยาก

7. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Risk)

เนื่องจากการลงทุนและ/หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศมีการชำระเงินเป็นเงินตราต่างประเทศ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน และ/หรือ ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยผู้ใช้บริการอาจมีความเสี่ยงหากมูลค่าของเงินตราต่างประเทศดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเมื่อเทียบกับมูลค่าของเงินบาท ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งหรืออาจเกิดขึ้นอย่างถาวร นอกจากนี้ หากเกิดการลดค่าของเงินตราต่างประเทศสกุลใดๆที่ผู้ใช้บริการได้ลงทุนไป ผู้ใช้บริการอาจได้รับความเสียหายจากการลดค่าของเงินตราต่างประเทศดังกล่าว

8. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญา (Credit Risk)

ผู้ใช้บริการอาจมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรวมถึงผู้ออกหน่วยลงทุนในต่างประเทศที่ผู้ใช้บริการได้ลงทุนไว้ โดยผู้ใช้บริการอาจมีความเสี่ยงที่อาจสูญเงินที่ลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหรือผู้ออกหน่วยลงทุนในต่างประเทศดังกล่าวตกเป็นบุคคลล้มละลาย หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่สามารถหรือไม่พร้อมที่จะชำระหนี้หรือปฏิบัติตามหน้าที่ของตน รวมถึงหน้าที่ในการชำระเงินคืนทุน หรือหน้าที่ในการไถ่ถอนหลักทรัพย์ที่ผู้ใช้บริการได้ลงทุนไว้

9. ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการลงทุนของผู้ใช้บริการเอง (Risk related to the investor’s own investment)

การตัดสินใจในการลงทุนในหน่วยลงทุนเป็นการตัดสินใจของผู้ใช้บริการเอง บริษัทมิได้ดำเนินการในฐานะเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการในการลงทุนแต่อย่างใด โดยก่อนการตัดสินใจลงทุน ผู้ใช้บริการได้ยืนยันต่อบริษัทว่า ผู้ใช้บริการได้ศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับสถานะธุรกิจ สถานะทางการเงิน และผลประกอบการของผู้ออกหน่วยลงทุนหรือสินค้าหรือทรัพย์สินที่ลงทุนหรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยลงทุนต่างประเทศที่ผู้ใช้บริการจะทำการลงทุน ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น ความแตกต่างทางด้านเวลา (Time Zone) ความแตกต่างด้านเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ สภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมายและระเบียบต่างๆของประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาวะตลาดอุปสงค์และอุปทาน และราคาสินค้าหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้น ผู้ใช้บริการจึงต้องรับเอาความเสี่ยงทั้งปวงจากการลงทุนเอง และบริษัทไม่มีหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการ อีกทั้งไม่มีความรับผิดชอบและไม่ต้องรับผิดใดๆ ในความรับผิดข้อเรียกร้องความเสียหาย ความสูญเสียต้นทุนและค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว

นอกจากนี้ผู้ใช้บริการยอมรับและเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมีข้อจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ผู้ใช้บริการควรพิจารณาอย่างระมัดระวังว่าการลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับตนหรือไม่ ซึ่งมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพคล่องของเงินที่นำมาลงทุน สุขภาพ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ใช้บริการ หรือ

(1) มีอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป (ซึ่งสุขภาพย่อมเสื่อมถอยลงมากขึ้นตามวัยและส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น) หรือ 

(2) ไม่มีประสบการณ์การลงทุน หรือยังมีความรู้ทางการเงินอย่างจำกัด หรือ 

(3) มีข้อจำกัดในการสื่อสารหรือในการตัดสินใจด้วยตนเองหรือมีภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือการมองเห็น หรือผู้มีภาวะซึมเศร้าบ่อย) 

ในกรณีที่บริษัทมีความเห็นว่า ผู้ใช้บริการอาจมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังกล่าวข้างต้น ผู้ใช้บริการตกลงยินยอมให้บริษัทตรวจสอบ/ประเมินผู้ใช้บริการและตกลงให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ/ประเมินว่า ผู้ใช้บริการมีข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้นหรือไม่เพียงใด รวมถึง ให้ความร่วมมือในการตอบแบบทดสอบที่เกี่ยวข้องและลงนามทำคำรับรองและการยอมรับความเสี่ยงซึ่งอาจเกิดขึ้นจากข้อจำกัดดังกล่าวนั้นตามวิธีที่บริษัทกำหนด ทั้งนี้ บริษัทมีสิทธิระงับการให้บริการ หรือกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการให้บริการโดยไม่จำต้องแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งมีสิทธิบอกเลิกข้อตกลงการให้บริการที่เกี่ยวข้องได้ทันทีโดยผู้ใช้บริการไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น

คำเตือนเกี่ยวกับการลงทุน

การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ใช้บริการควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน คู่มือภาษี นโยบายการลงทุน ประเภทหน่วยลงทุนที่จะลงทุน คำเตือน/ข้อแนะนำ รวมถึงผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนให้เข้าใจก่อนตัดสินใจยืนยันแผนการลงทุน  และควรเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต โดยบริษัทจะนำเสนอและปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันเป็นคราวๆ ไปเมื่อได้รับข้อมูลจากบลจ.ที่เกี่ยวข้อง หากผู้ใช้บริการต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บลจ.ที่เกี่ยวข้องหรือบริษัท

ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต อีกทั้ง การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงินและมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ใช้บริการอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้หรือในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติ ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับชำระเงินค่าขายหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดหรืออาจไม่สามารถขายหน่วยลงทุนได้ตามที่ได้มีคำสั่งไว้

ในกรณีที่ผู้ลงทุนนำเงินได้ซึ่งรวมถึงกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เงินปันผล ดอกเบี้ยรับ และเงินได้อื่นๆจากการลงทุนในต่างประเทศกลับมาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกัน  และผู้ลงทุนมีถิ่นที่อยู่และอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 วัน ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้พึงประเมินเพื่อชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลแก่กรมสรรพากร ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ต้องชำระขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละบุคคล และการคำนวณเงินได้ไม่นับรวมเงินต้น

ผู้ใช้บริการสามารถตรวจดูข้อมูลที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุน เช่น การทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และการลงทุนตามอัตราส่วนที่กำหนดในวัตถุประสงค์การลงทุน เป็นต้น ได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ที่ http://www.sec.or.th

การลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกลุเงินตราต่างประเทศต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตของเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และ/หรือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง(ถ้ามี)