อยากลงทุน อยากให้ผลตอบแทนดี แต่ความเสี่ยงต่ำ
สิ่งที่ต้องทำคือ กระจายความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ต
แต่คำถามถัดมาคือจัดพอร์ตยังไง ?
เรามีไอเดียการจัดพอร์ต 8 แบบด้วยกัน แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมต้องจัดพอร์ต
ทำไมต้องจัดพอร์ต
ลดความเสี่ยง : การจัดพอร์ตช่วยบริหารความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป
เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน : สินทรัพย์แต่ละประเภทมีช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่แย่ไม่เหมือนกัน การจัดพอร์ตจะช่วยให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่สมดุลขึ้น
หลักการในการจัดพอร์ต
คำนึงถึงเป้าหมายในการออม : นักลงทุนอายุ 40 วางแผนเกษียณ กับนักลงทุนที่เพิ่งเรียนจบใหม่อายุ 22 วางแผนแต่งงานตอนอายุ 30 ย่อมมีเป้าหมายในการลงทุนต่างกัน ความเสี่ยงต่างกัน ความเร่งด่วนในการใช้เงินต่างกัน ดังนั้นก่อนจัดพอร์ตได้โปรดคำนึงถึงแผนการเงินของคุณด้วย
คำนึงถึง Correlation : สินทรัพย์เสี่ยงบ้างประเภทวิ่งตามกัน อย่างเช่น หุ้นเติบโตกับหุ้นพลังงานสะอาด ในขณะที่สินทรัพย์บางประเภทวิ่งสวนกัน เช่น ทองคำกับหุ้น แต่จุดที่ต้องพึงระลึกคือไม่มีสินทรัพย์ไหนที่ทำผลตอบแทนโดดเด่นตลอดเวลา ถ้าอยากให้ผลตอบแทน Smooth ไม่ขึ้นสุดลงสุด ไม่ควรจะมีสินทรัพย์ที่มีประเภทเดียวกันมากเกินไป
8 ไอเดียจัดพอร์ตด้วยตัวคุณเอง
1. จัดพอร์ตแบบ 60/40
หลักการของการจัดพอร์ตแบบนี้คือการแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็นหุ้น 60% และพันธบัตร 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี โดยหุ้นให้ผลตอบแทนในระยะยาว และพันธบัตรช่วยลดความผันผวน เนื่องจากสองสินทรัพย์นี้มักวิ่งคนละทางกัน
ข้อดี : เป็นกลยุทธ์ที่ทำตามได้ง่าย
จุดที่ต้องระวัง : ถ้าช่วงที่ผลตอบแทนของทั้งสองสินทรัพย์วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การกระจายความเสี่ยงลดลง
ตัวอย่างการลงทุน :
- 40% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก
- 60% ลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นโลก
2. จัดพอร์ตแบบ Core-Satellite
หลักการของ Core-Satellite ถ้าให้พูดง่าย ๆ คือการแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Port) ไปคว้าโอกาสในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่แยกออกมานี้เราจะเรียกมันว่าพอร์ตการลงทุนเสริม (Satellite Port)
ข้อดี : สามารถคว้าโอกาสเติบโตที่สูงขึ้นไปพร้อมกับไม่ทำให้พอร์ตมีความเสี่ยงมากจนเกินไป
จุดที่ต้องระวัง : ถ้า Core Port เสี่ยงมากเกินไป อาจทำให้ผลตอบแทนผันผวนได้
ตัวอย่างการลงทุน :
- Core Port 80% ลงทุนในกองทุนหุ้นโลก 60% ตราสารหนี้ทั่วโลก 20%
- Satellite Port 20% ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี 10% หุ้นอินเดีย 10%
3. พอร์ตแบบเน้นกระแสเงินสด (Income-Focused Portfolio)
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดมาช่วยใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การจัดพอร์ตแบบ Income Focus คือคำตอบ
เพราะการจัดพอร์ตแบบนี้จะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้รายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ เช่น หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล พันธบัตร หรือรีท
ข้อดี : ได้รับรายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยพอร์ตไม่ผันผวนมากจนเกินไป
จุดที่ต้องระวัง : พอร์ตอาจจะจ่ายปันผลสม่ำเสมอ แต่การเติบโตอาจจะต่ำ
ตัวอย่างการลงทุน :
- 50% ลงทุนในกองทุนหุ้นปันผลสูง
- 30% ลงทุนในกองทุนรีท
- 20% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้
4. จัดพอร์ตแบบเท่า ๆ กัน หรือ 1/n (Naive Diversification)
แนวคิดการจัดพอร์ตแบบนี้คือจัดพอร์ตแบบแบ่งเงินเท่า ๆ กัน ไม่ต้องคิดมาก เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความซับซ้อนลง
ข้อดี : เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงโดยไม่ต้องการการวิเคราะห์มาก
จุดที่ต้องระวัง : อาจสูญเสียการโฟกัสถ้ากระจายการลงทุนมากไป เช่น แบ่ง 20 กองทุน หรืออาจขาดทุนหนักถ้ากระจายพอร์ตแล้วแต่ยังกระจุกอยู่ในสินทรัพย์กลุ่มเดียวกัน เช่นแบ่งเงินเป็น 10 กอง แต่ซื้อกองทุนหุ้นหมดเลย เป็นต้น
ตัวอย่างการลงทุน :
- 25% กองทุนหุ้น
- 25% กองทุนตราสารหนี้
- 25% กองทุนทองคำ
- 25% กองทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ
5. จัดพอร์ตแบบ Target-Date Fund หรือ กองทุนตามอายุเป้าหมาย
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการวางแผนเกษียณ อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนอายุยังน้อย ๆ เรายังรับความเสี่ยงได้มากอยู่ ในขณะที่พอเราอายุเยอะขึ้น เราจะรับความเสี่ยงได้น้อยลง ปัญหาที่ตามมาคือ จะเลือกกองทุนยังไงให้เหมาะกับช่วงอายุเรา?
กองทุน Target Date เลยออกแบบมาเพื่อการนี้ ปรับสัดส่วนการลงทุนโดยอัตโนมัติตามอายุเป้าหมายของนักลงทุน ยิ่งใกล้ถึงวันเป้าหมาย พอร์ตจะยิ่งลดความเสี่ยงลงเอง
ข้อดี : ไม่ต้องปรับพอร์ตเอง เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการจัดพอร์ตตามเป้าหมาย เช่น เกษียณอายุ
จุดที่ต้องระวัง : เรี่องความเสี่ยงตามอายุนั้น ในทางทฤษฏีคำนวณมาจากอายุเกษียณ 60 ปี แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเกษียณตอน 60 บางคนตอนอายุ 60 อาจมีธุรกิจส่วนตัว รับความเสี่ยงได้มากกว่าคนอายุ 60 ที่ว่างงานเลย ในขณะที่บางคนอาจหวังเกษียณตอน 40 ดังนั้นโปรดตรวจสอบแผนการเงินของตัวเองให้ดีก่อน
ตัวอย่างการลงทุน : ถ้าจะเกษียณตอนปี 2050 ให้หากองทุนที่ Target Date คือมีเป้าหมายปี 2050 ที่เหลือผู้จัดการกองทุนจะจัดการเอง
6. จัดพอร์ตแบบ Risk Parity
แนวคิดการจัดพอร์ตที่พบได้บ่อย คือ การใช้ผลตอบแทนที่น่าจะทำได้เป็นจุดเริ่มต้น
แต่แนวคิดการจัดพอร์ตแบบ Risk Parity จะต่างออกไป เพราะจะเป็นการจัดพอร์ตให้เกิดการกระจายความเสี่ยงที่สมดุลที่สุด
แต่ปัญหาที่ตามมาคือกระบวนการจัดพอร์ตจะค่อนข้างซับซ้อน เพราะสัดส่วนจะไม่ได้ถูกระบุตายตัวให้เห็นชัดอย่าง กองทุนรวมหุ้น 60% กองทุนรวมตราสารหนี้ 40% แต่จะเกิดจากการคำนวณหลายปัจจัย เช่นค่า Correlation Max Drawdown Volatility และความเสี่ยงเฉพาะตัวของสินทรัพย์
ข้อดี : การจัดพอร์ตแบบนี้เน้นการควบคุมความเสี่ยงเป็นหลัก
จุดที่ต้องระวัง : การจัดพอร์ตแบบนี้มีความซับซ้อนสูง และปฏิบัติจริงลำบาก
ตัวอย่างการลงทุน :
ตัวอย่างการจัดพอร์ตโดยถ่วงน้ำหนักโดยใช้ค่า Max Drawdown*
- กองทุน A : Max Drawdown = 20%
- กองทุน B : Max Drawdown = 10%
สัดส่วนจากความเสี่ยง :
- กองทุน A : 20%/30% = 67%
- กองทุน B : 10%/30% = 33%
สัดส่วนพอร์ตที่ควรแบ่ง :
- กองทุน A : 1-67% = 33%
- กองทุน B : 1-33% = 67%
หมายเหตุ : ของจริงไม่ได้ง่ายแบบนี้
7. จัดพอร์ตตามเป้าหมายทางการเงิน (Goals-Based Investing)
การจัดพอร์ตแบบนี้คือการตั้งเอาตามเป้าหมายทางการเงิน เช่น การดาวน์ซื้อบ้าน การศึกษา หรือการเกษียณ เป็นหลัก
ทีนี้พอแต่ละเป้าหมายจะมีการจัดพอร์ตที่แตกต่างกันไปตามระยะเวลาการลงทุนและความเสี่ยงที่รับได้
โดยนักลงทุนสามารถสร้างพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงตามเป้าหมายเฉพาะได้ เช่น พอร์ตการเกษียณ มีเวลาลงทุนเหลือเยอะ อาจมีความเสี่ยงสูง
ข้อดี : แบ่งพอร์ตได้ชัดเจนตามเป้าหมายทางการเงิน พูดง่าย ๆ เหมือนแยกกระปุกออมเงินสำหรับใช้จ่ายต่าง ๆ
จุดที่ต้องระวัง : การมีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน
ตัวอย่างการลงทุน :
- พอร์ตเป้าหมายระยะยาว: ลงทุนเน้นกองทุนหุ้นหุุ้น
- พอร์ตเป้าหมายระยะสั้น: ลงทุนเน้นกองทุนตราสารหนี้อายุเฉลี่ยไม่สูง
8. จัดพอร์ต All-Weather
แนวคิด All-Weather คือพอร์ตที่สามารถรับมือกับทุกสภาวะเศรษฐกิจ โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนตามเงื่อนไขของตลาด
โดยการจัดพอร์ตนั้นจะใช้วัฏจักรเศรษฐกิจในการจัดพอร์ต
- เศรษฐกิจถดถอย : ตราสารหนี้ หุ้น Defensive
- เศรษฐกิจเติบโต : หุ้น
- เงินเฟ้อ : ทองคำ ตราสารหนี้แบบชดเชยเงินเฟ้อ สินค้าโภคภัณฑ์ รีท
- เงินฝืด : ตราสารหนี้
ข้อดี : ใช้การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในทุกช่วงเวลา
จุดที่ต้องระวัง : ต้องคอยปรับพอร์ตตลอดเวลา ต้องอาศัยความสามารถสูง และต้อง Monitor ตลาด
ตัวอย่างการลงทุน :
ตัวอย่างการจัดพอร์ตช่วงเงินเฟ้อ
- กองทุนทองคำ 10%
- กองทุนหุ้น Defensive 50%
- กองทุนตราสารหนี้แบบชดเชยเงินเฟ้อ 20%
- กองทุนรีท 10%
- กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ 10%
*ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
#FinVest #YourWingsYourWays