💸 อัปเดต 3 กองทุนลดหย่อนภาษี ปี 2567 แบบไหนที่เหมาะกับวัยคุณ
- SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม มีนโยบายเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว มีทางเลือกทั้งกองทุนที่ลงทุนในประเทศ และ ต่างประเทศ เงื่อนไขของ SSF คือ
- ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนปีนั้น
- ต้องถือหน่วยลงทุนไปไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
- ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมถึงประกันแบบบำนาญ และ RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ มีนโยบายเพื่อส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ มีทางเลือกทั้งกองทุนที่ลงทุนในประเทศ และ ต่างประเทศ เงื่อนไขของ RMF คือ
- ต้องลงทุนต่อเนื่อง โดยเว้นระยะเวลาได้ 1 ปี นั่นคือสามารถซื้อปีเว้นปีได้
- ปีไหนไม่มีรายได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อ
- ต้องลงทุนไปจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ (หรือถึงวันเกิด) และลงทุนอย่างน้อย 5 ปี แบบวันชนวัน ถึงขายได้ ทั้งนี้หากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพไม่ถือว่าผิดผิดเงื่อนไข
- ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
- TESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน มีนโยบายเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวผ่านการลงทุนกับธุรกิจในประเทศที่เน้นความยั่งยืน (ESG) มีการปรับเงื่อนไขใหม่ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ปี 2567-2569 โดยเงื่อนไขใหม่ของ TESG คือ
- ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนปีนั้น
- ต้องถือหน่วยลงทุนไปไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ เพื่อรักษาสิทธิการลดหย่อนภาษี
- ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ไม่รวมอยู่ในส่วน 500,000 บาท ของ กองทุนกลุ่ม SSF RMF และกองทุนเพื่อการเกษียณประเภทอื่น ๆ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ต่างกันของกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 3 ประเภท ก็คือ
- อายุผู้ลงทุน
- ระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุน
- ขอบเขตนโยบายการลงทุน
- วงเงินลดหย่อนภาษีเพื่อคำนวณเงินลงทุน
ทำให้ปัจจัยเหล่านี้ ที่ควรนำมาพิจารณาว่าจะเลือก กองทุน SSF RMF หรือ TESG กันดี FinVest เลยขออาสาทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้อย่างง่ายดาย ผ่านแผนภาพที่เราตั้งใจวาดมาให้
มาดูกันว่า อายุเท่านี้ ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีแบบไหน เท่าไรดี ? โดย FinVest
🗒️ตัวอย่างวิธีดูแผนภาพพิจารณากองทุนลดหย่อนภาษี
ตัวอย่างที่ 1 กรณีอายุ 32 ปี และ ต้องการการลงทุนในประเทศ
จากแผนภาพ กรณีที่ผู้ลงทุนอายุ 32 ปี (< 45 ปี) และเน้นการลงทุนในประเทศ
Step1 : ควรเลือกลงทุนในกองทุน TESG ที่เน้นการลงทุนในประเทศ และ ระยะเวลาถือครองตามเงื่อนไขสั้นที่สุด (5 ปี) เมื่อเทียบกับระยะเวลาการถือครองตามเงื่อนไขของ SSF (10 ปี) และ RMF (ต้องถือจนอายุครบ 55 ปี เท่ากับว่าต้องถือนาน 23 ปี) ให้เต็มวงเงินลดหย่อนภาษี (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท)
Step2 : หากต้องการลงทุนเพื่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ควรเลือกลงทุนในกองทุน SSF ที่มีตัวเลือกการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระยะเวลาถือครองตามเงื่อนไข สั้นกว่า RMF ให้เต็มวงเงินลดหย่อนภาษี (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท) รวมมูลค่าเงินลดทุนสูงสุด 500,000 บาท
Step3 : หากต้องการลงทุนเพื่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม สามารถเลือกลงทุนใน RMF เพิ่มได้ ที่มีตัวเลือกการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน SSF และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้วสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท) รวมมูลค่าเงินลดทุนสูงสุด 800,000 บาท
ตัวอย่างที่ 2 กรณีอายุ 49 ปี และ ต้องการลงทุนในประเทศ
จากแผนภาพ กรณีที่ผู้ลงทุนอายุ 49 ปี (>= 45 ปี แต่ < 50 ปี) และเน้นการลงทุนในประเทศ
Step1 : ควรเลือกลงทุนในกองทุน TESG ที่เน้นการลงทุนในประเทศ และ ระยะเวลาถือครองตามเงื่อนไขสั้นที่สุด (5 ปี) เมื่อเทียบกับระยะเวลาการถือครองตามเงื่อนไขของ SSF (10 ปี) และ RMF (ต้องถือจนอายุครบ 55 ปี เท่ากับว่าต้องถือนาน 6 ปี) ให้เต็มวงเงินลดหย่อนภาษี (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท)
Step2 : หากต้องการลงทุนเพื่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ควรเลือกลงทุนในกองทุน RMF ที่มีระยะเวลาถือครองตามเงื่อนไขสั้นกว่า SSF ให้เต็มวงเงินลดหย่อนภาษี (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท)
Step3 : กรณีที่ ลงทุนใน RMF เต็ม 30% ของเงินได้พึงประเมินแล้ว แต่ยังไม่ถึงวงเงินลงทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด 500,000 บาท และต้องการลงทุนเพื่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม สามารถลงทุนใน SSF เพิ่มได้อีก (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุด 200,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน RMF และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ แล้วสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท)
ตัวอย่างที่ 3 กรณีอายุ 52 ปี และ ต้องการลงทุนต่างประเทศ
จากแผนภาพ กรณีที่ผู้ลงทุนอายุ 52 ปี (>= 45 ปี และ >= 50 ปี) และเน้นการลงทุนต่างประเทศ
Step1 : ควรเลือกลงทุนในกองทุน RMF ที่มีตัวเลือกการลงทุนในต่างประเทศ และ มีระยะเวลาถือครองตามเงื่อนไขสั้นที่สุด (5 ปี และขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปี เมื่อเทียบกับระยะเวลาการถือครองตามเงื่อนไขของ SSF (10 ปี) ให้เต็มวงเงินลดหย่อนภาษี (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท)
Step2 : กรณีที่ ลงทุนใน RMF เต็ม 30% ของเงินได้พึงประเมินแล้ว แต่ยังไม่ถึงวงเงินลงทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด 500,000 บาท และต้องการลงทุนเพื่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม สามารถลงทุนใน SSF เพิ่มได้อีก (ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุด 200,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน RMF และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้วสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท)
*ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
#FinVest #YourWingsYourWays