ซื้อกองทุนเพื่อเอาผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีดีไหม?
นี่คือคำถามที่หลายคนสงสัย
วันนี้ FinVest เราทำตารางมากางให้เห็นเลยว่า ถ้าเงินเดือนเท่านี้ แล้วซื้อกองทุนแบบอัด จัดหนัก จัดเต็ม จะคิดเป็นผลตอบแทนกี่%
แต่ก่อนอื่นเราไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า ปีภาษี 2567 นี้ รัฐบาลให้สิทธิอะไรเราบ้าง
สิทธิภาษีสำหรับการลงทุน สรุปมาให้แล้วแบบกระชับ
ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
เกณฑ์สำหรับ SSF และ RMF นั้นเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปคือกองทุน TESG ที่จากเดิมในปี 2566 ให้วงเงิน 100,000 ปัจจุบันจะให้เพิ่มเป็น 300,000 ในปี 2567
สำหรับใครที่ลืมเงื่อนไข เรามาทวนกันคร่าว ๆ ตรงนี้ครับ
- TESG : ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยเงื่อนไขคือจะต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นวงเงินพิเศษคนละก้อนกับ SSF และ RMF
- RMF : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขคือต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นเสียชีวิต/ทุพพลภาพ และอย่าลืมซื้อปีเว้นปีด้วย
- SSF : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขคือจะขายคืนได้เมือถือเกิน 10 ปีเป็นต้นไป และเงื่อนไขสำคัญคือเมื่อรวมกับ RMF แล้วต้องห้ามเกิน 500,000 บาทด้วย
ทั้งนี้ RMF และ SSF เมื่อรวมกับเงินเพื่อการเกษียณอื่นจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินเดือนเท่านี้ ถ้าซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF RMF TESG แบบอัดจัดเต็ม จะให้ผลตอบแทนกี่ %
ต้องเกริ่นก่อนว่า สูตรการลดหย่อนภาษีนั้นถ้าให้อธิบายง่าย ๆ มันคำนวณจาก
“เงินได้ทั้งปี ลบด้วย ค่าใช้จ่าย และ เงินลดหย่อน = เงินได้สุทธิ”
โดยที่เราจะนำไอ้เจ้าสิ่งที่เรียกว่า เงินได้สุทธิ ไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดอีกทีหนึ่ง
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่าย และ เงินลดหย่อนส่วนตัว ที่รัฐกำหนดไว้ไม่เกิน 100,000 บาท และ 60,000 บาท ตามลำดับ แต่ค่าลดหย่อนส่วนอื่น ๆ ที่รัฐบาลจัดให้ยังมีอยู่ โดยสามารถปรับได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล
แต่ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปดูพร้อม ๆ กันว่า ถ้าเราใช้สิทธิซื้อกองทุน SSF RMF และ TESG แบบจัดเต็มจนสุดเพดาน เราจะประหยัดภาษีไปได้กี่บาท
(โดยที่สมมติฐานคือ สถานะโสด มีรายได้จัดเป็นประเภท 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายที่รัฐให้ และประกันสังคมเท่านั้น รวมทั้งลดหย่อนผ่าน SSF เต็มเพดานก่อน)
ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย
เงินเดือน : 26,583
เงินลงทุนทั้งหมด: 287,096
- ออมเต็มคิดเป็น: 90% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 0
- คิดเป็นผลตอบแทน: 0.00% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 30,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 324,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 90% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 2,050
- คิดเป็นผลตอบแทน: 0.63% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 40,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 432,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 90% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 8,600
- คิดเป็นผลตอบแทน: 1.99% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 50,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 540,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 90% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 20,600
- คิดเป็นผลตอบแทน: 3.81% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 60,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 632,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 87.78% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 35,150
- คิดเป็นผลตอบแทน: 5.56% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 70,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 704,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 83.81% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 53,150
- คิดเป็นผลตอบแทน: 7.55% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 80,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 776,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 80.83% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 73,200
- คิดเป็นผลตอบแทน: 9.43% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 90,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 800,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 74.07% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 97,200
- คิดเป็นผลตอบแทน: 12.15% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 100,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 800,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 66.67% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 118,700
- คิดเป็นผลตอบแทน: 14.84% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 150,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 800,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 44.44% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 191,550
- คิดเป็นผลตอบแทน: 23.94% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 200,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 800,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 33.33% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 211,550
- คิดเป็นผลตอบแทน: 26.44% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 300,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 800,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 22.22% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 240,000
- คิดเป็นผลตอบแทน: 30.00% ต่อเงินลงทุน
เงินเดือน : 500,000
เงินลงทุนทั้งหมด: 800,000
- ออมเต็มคิดเป็น: 13.33% ของเงินเดือน
- ภาษีที่ประหยัดได้: 280,000
- คิดเป็นผลตอบแทน: 35.00% ต่อเงินลงทุน
จะเห็นว่าช่วงเงินเดือนจนถึงแสนนั้น การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีแบบจัดเต็ม คิดเป็นสัดส่วนการออม ถึง 66.67% – 90% ของเงินเดือน ซึ่งฟังดูเป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตจริง นอกจากนี้ การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษียังต้องทำตามเงื่อนไขการถือครองระยะเวลานานหลายปีอีกด้วย
แล้วจำเป็นต้องซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเยอะ ๆ ไหม?
ขอบอกตรงนี้เลยว่าขึ้นอยู่กับสามปัจจัยได้แก่
- เงินเดือน
- สภาพคล่อง
- ความสามารถในการลงทุน
เรื่องของเงินเดือน เนื่องจากผลตอบแทนจากการลดหย่อนจะเริ่มเห็นน้ำเห็นเนื้อเริ่มจากเงินเดือนหลักแสนเป็นต้นไป ยิ่งซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเยอะ ๆ เมื่อเงินเดือนตกในช่วงสูง ๆ จะเห็นผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำมากกว่า
สำหรับเรื่องสภาพคล่อง จะเห็นว่าการซื้อกองทุนแบบจัดหนักจัดเต็มนั้น มันดูเป็นไปไม่ได้เลยในช่วงเงินเดือน 25,000 จนถึง 100,000 เพราะคิดเป็น 90% ของเงินเดือน ให้เราดูความเหมาะสมตรงนี้ด้วย
เรื่องสุดท้ายถ้าเรามองว่า เรามีความสามารถในการลงทุนที่สูงกว่า สามารถหาโอกาสได้มากกว่าการขังเงินตัวเองไว้ในกองทุนลดหย่อนภาษี แบบนี้การเลือกลงทุนกองทุนแบบไม่ลดหย่อนภาษี อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
สรุปแล้ว
- SSF RMF TESG ช่วยลดหย่อนได้จริง แต่ก็ไม่ควรออมเงินเกินตัวจนเดือดร้อน อย่าลืมคำนึงถึงปัญหาสภาพคล่องที่จะตามมาด้วย
- ยิ่งรายได้มาก ยิ่งประหยัดภาษีจากการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเป็นจำนวนเงินได้มาก
- ถ้าคิดว่าทำผลตอบแทนได้มากกว่าผลประโยชน์จากการลดหย่อน ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี
- ปี 2567 มนุษย์เงินเดือนมีรายได้ไม่เกิน 26,583 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องยื่นภาษีนะ
*ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
#FinVest #YourWingsYourWays