ลงทุนกองทุน ควรตัดขาดทุนอย่างไรดี

ลงทุนกองทุน ควรตัดขาดทุนอย่างไรดี

ในการลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้น กองทุน หรืออนุพันธ์ทางการเงิน ความผิดพลาดในการลงทุนสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การมีทางหนีทีไล่ที่ดีตั้งแต่ก่อนเริ่มลงทุนจึงเป็นเรื่องความสำคัญ

คำว่าการตัดขาดทุน หลายคนจะรู้จักจากการลงทุนในหุ้น แต่ด้วยลักษณะของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมนั้นไม่เหมือนกับหุ้น ดังนั้น ลักษณะการมองอาจจะมีจุดแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งวันนี้ FinVest ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายๆแหล่งเพื่อมานำเสนอว่า ปัจจัยใดบ้างที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อที่เราจะได้ทราบว่าเมื่อไรเราควรจะตัดขาดทุนกองทุนที่เราถืออยู่

ปัจจัยที่ 1: เมื่อปรัชญาการลงทุนระหว่างผู้ลงทุนกับกองทุนไม่ตรงกัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้ลงทุนทุกท่านพึงกระทำก่อนการลงทุนในกองทุนทุกครั้ง คือ ศึกษาปรัชญาของกองทุนที่เราสนใจให้เห็นภาพชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ลงทุนสนใจการลงทุนระยะยาวในกอง TMBGQG ที่กระจายการลงทุนในหุ้นจากทั่วโลกและจากทุกเซคเตอร์ ก็ควรเข้าใจว่าเรามองเห็น “คุณค่า” เดียวกับที่กองทุนมองเห็นหรือไม่ เราเชื่อในการกระจายการลงทุนหรือเปล่า หรือเราเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นแบบกระจุกหมวดอุตสาหกรรมแบบกอง UEV  เพราะเมื่อวันใดวันหนึ่ง คุณหรือกองทุนเปลี่ยนมุมมอง การเดินออกมาจะถือเป็นตัวเลือกต้นๆ ไม่ว่ากองที่คุณถือ จะขาดทุนหรือกำไรอยู่ก็ตาม ตัวอย่างเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้จัดการกองทุนเปลี่ยนคน หรือ บริษัทจัดการการลงทุนนั้นถูกซื้อไป ทำให้ผู้บริหารเปลี่ยนทีม ซึ่งสองข้อที่กล่าวมาสามารถเปลี่ยนแนวทางการลงทุนของกองได้ 

หรืออีกเหตุการณ์สมมุติคือ การลงทุนในกองทุนที่คุณเคยคิดว่ามันดีเมื่อในอดีต แต่ปัจจุบันมันอยู่ในเทรนด์ที่ไม่ดีหรือว่าพื้นฐานเปลี่ยนแล้ว ตัวอย่างเช่น คนเคยลงทุนในกองทุนเกี่ยวกับพลังงาน แต่ปัจจุบันเทรนด์พลังงานสะอาดกำลังมา จากเหตุการณ์ข้างต้นจะเห็นว่ามุมมองของคุณเปลี่ยนไป แต่ของกองทุนยังคงเดิม สุดท้ายถ้ามุมมองไม่ตรงกัน คุณก็ควรออกจากการลงทุนนั้น

ปัจจัยที่ 2: เมื่อกองทุนที่ลงทุนแพ้ Benchmark หรือแพ้กองทุนกลุ่มเดียวกันเป็นระยะเวลายาวนาน

เวลาที่เราลงทุนกองทุนแล้วรู้สึกผลตอบแทนย่ำแย่ ให้ตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนที่เราถืออยู่ว่ามันทำผลงานได้ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ยหรือแย่กว่าดัชนีชี้วัดของกองทุนหรือไม่

โดยทั่วไปแล้วทุกกองทุนจะมีดัชนีชี้วัดของตัวเอง ซึ่งเป้าหมายของผู้จัดการกองทุนทุกคน คือการเอาชนะดัชนีชี้วัดนั้นให้ได้ โดยดัชนีที่นำมาเปรียบเทียบก็จะเป็นตัวแทนของการลงทุนในกลุ่มนั้นๆ เช่น กองทุนที่ลงทุนในกลุ่ม Healthcare ก็จะเทียบกับดัชนีอุตสาหกรรมกลุ่ม Healthcare เป็นต้น

จากคำถามข้างต้น ถ้าคำตอบคือใช่ กองทุนที่เราถืออยู่ Underperform Benchmark ให้สำรวจลึกลงไปอีกว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นกินเวลายาวนานเพียงใด เพราะโดยทั่วไปแล้วการลงทุนในกองทุนรวมจะมีบ้างที่เราจะขาดทุนหรือแพ้ Benchmark ในระยะสั้นๆ ซึ่งเกิดจากความผันผวนของตลาด แต่ถ้าหากผลตอบแทนของกองทุนที่เราลงทุนนั้นยังพ่ายแพ้ต่อ Benchmark เป็นเวลานาน ให้สันนิษฐานเลยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือตัดใจและหากองทุนใหม่ที่ดีกว่า เพราะการที่เรารักษาเงินต้นไว้ได้ จะเป็นต้นทุนนำพาเราไปสู่โอกาสการลงทุนใหม่ๆได้ 

ปัจจัยที่ 3: เมื่อตัวเราเองรับความเสี่ยงไม่ไหว 

ก่อนการลงทุนทุกครั้ง สิ่งที่นักลงทุนควรทำก่อนคือการศึกษาความเสี่ยงของกองทุนที่ต้องการลงทุน ว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับไหน แล้วนำมาเทียบกับความเสี่ยงที่คิดว่าตัวเราเองรับได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารับความเสี่ยงจากการขาดทุนเงินต้นได้ 20% เราก็ไม่ควรเลือกกองทุนที่ผันผวนเกินกว่า 20% เพราะการลงทุนในแบบที่เรารับความเสี่ยงไม่ไหว อาจทำให้เราตื่นตระหนกจนละเลยแผนการลงทุนที่วางเอาไว้ หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ปกติแล้วความเสี่ยงของแต่ละกองทุนสามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวน แต่ถ้าหากต้องการดูให้ละเอียดขึ้นให้ดูที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังว่า กองทุนมี Max Drawdown หรือการขาดทุนสูงสุดในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร และอาจจะลองเปรียบเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกันด้วย

กรณีถ้าเกิดว่ากองทุนเกิดการขาดทุนสูงเกินกว่าที่เรารับความเสี่ยงได้ เราอาจจะเลือกทยอยตัดขาดทุนเพื่อปรับพอร์ตลงมาก่อน ไม่มีอะไรการันตีว่ากองทุนที่ลงมาลึกแล้วมันจะไม่ลงไปลึกกว่าเดิม ดังนั้นรักษาทั้งเงินและสภาพจิตใจเพื่อรอโอกาสในการลงทุนครั้งหน้าดีกว่า

ปัจจัยที่ 4 : เมื่อเราเล็งเห็นโอกาสที่ดีกว่า

เวลาที่เราลงทุนไปนานๆ ย่อมมีบ้างที่เราอยากจะปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นอาจจะนำมาซึ่งการตัดขาดทุนกองทุนที่กำลังติดลบอยู่ แล้วย้ายไปถือกองทุนที่คิดว่ามีอนาคตมากกว่า เวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการลงทุน ถ้าหากกองทุนที่ถืออยู่ไม่ไปไหนมาเป็นเวลานาน มันอาจจะถึงเวลาย้ายเงินของเราไปเติบโตที่อื่นได้แล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังความมั่นใจที่มากเกินไป เรายังต้องทบทวนทั้งปรัชญาการลงทุนของกองทุน โอกาสในการเติบโต และความเสี่ยงของกองทุนใหม่ที่เราจะนำเงินไปลงให้ดีด้วย 

ส่งท้าย

การลงทุนแล้วขาดทุนถือเป็นเรื่องธรรมดาในแวดวงการลงทุน อย่างไรก็ตามจากอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าการลงทุนในระยะยาวบวกกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี มักให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจเสมอ ก่อนจบบทความนี้ขอฝากหนึ่งคำพูดของนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่อย่าง George Soros ไว้เตือนใจนักลงทุนทุกท่านว่า “มันไม่สำคัญว่าคุณจะถูกทางหรือผิดทาง มันสำคัญที่ว่าเวลาที่คุณถูก คุณได้รับผลตอบแทนมากขนาดไหน แล้วเวลาคุณผิด คุณสูญเสียน้อยแค่ไหน”

อ้างอิง

https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7324&type=article

https://www.investopedia.com/investing/when-to-sell-mutual-fund/

https://www.nerdwallet.com/article/investing/5-reasons-sell-mutual-fund

https://www.holisticinvestment.in/5-signs-you-should-sell-your-mf/

Related Posts