รวม Checklist 4 ข้อที่ควรเช็คก่อนซื้อกองทุน

รวม Checklist 4 ข้อที่ควรเช็คก่อนซื้อกองทุน

ถ้าหากเราจะเลือกสินค้าสักชิ้น เราคงมีคำถามมากมายในการเลือกพิจารณาสินค้าเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น สินค้าชิ้นนี้ราคาแพงเกินไปไหม, ซื้อมาจะเหมาะสมกับเราไหม, ร้านค้าที่เรากำลังดูอยู่ขายแพงกว่าร้านค้าก่อนหน้าหรือเปล่า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ากองทุน ก็ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่เราควรจะต้อง “ตรวจสอบ” ให้ถี่ถ้วนก่อนทำการซื้อและขายทุกครั้ง แต่ด้วยความที่กองทุนถือว่าเป็นสินค้าที่มีรายละเอียดมากชิ้นหนึ่ง ดังนั้นวันนี้ ทีม Finvest จะมาเสนอ Checklist ง่ายๆ 4 ข้อ ที่ควรพิจารณาคร่าว ๆ ก่อนจะเลือกลงทุนกองทุนสักกอง ตามไปดูกันเลย

1. ซื้อกองทุนอะไร และนโยบายเป็นอย่างไร

อย่างแรกที่ควรจะทราบเลยคือ กองทุนที่จะซื้อ คือกองทุนอะไร และมันมีนโยบายการลงทุนอะไร เพื่อจะให้เราได้เข้าใจภาพกว้าง ๆ ก่อนว่า กองทุนนี้มีนโยบายการลงทุนเป็นแบบไหน ถือสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง อย่างเช่นบางกองอาจจะมีแค่หุ้นอย่างเดียว ในขณะที่บางกองอาจจะมีการใช้อนุพันธ์ร่วมด้วย มากไปกว่านั้น ควรเจาะลึกดูด้วยว่า กองทุนเหล่านั้นมี Top Holdings เป็นหุ้นหรือสินทรัพย์อะไรบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจเวลาเรามาเช็ค Factsheet ในอนาคตเวลามีการปรับพอร์ต และสิ่งที่ควรเช็คถัดมาเลยคือตัวเลขดัชนีชี้วัดที่เขาใช้วัดผลตอบแทนเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้จะต้องตอบให้ได้ก่อนไปต่อในข้อต่อไป

2. ผลตอบแทนและความเสี่ยงในอดีตเป็นอย่างไร

หากจะเลือกซื้อกองทุนสักกอง ผลตอบแทนย่อมเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องตรวจสอบเสมอ โดยทั่วไปแล้ว ผลตอบแทนของกองทุน จะต้องเทียบกับดัชนีชี้วัด หรือ Benchmark ที่กองทุนเหล่านั้นใช้ โดยตัวเลขตัวแรกที่จะพูดถึงคือ ผลตอบแทนในอดีตเทียบกับดัชนีชี้วัด เนื่องจากตัวเลขในส่วนนี้สามารถบอกความสามารถของผู้บริหารจัดการกองทุนคร่าวๆ ได้ โดยตัวเลขนี้ควรดูในกรอบเวลา 3-5 ปี หรือมากที่สุดตั้งแต่จัดตั้งกองทุนขึ้นมา

ทีนี้ในส่วนของความเสี่ยงซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เวลาเราจะเลือกกองทุนสักกอง เนื่องจากทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การที่เราทราบและเข้าใจความเสี่ยงก่อนที่จะลงทุน จะทำให้การลงทุนนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนตัวเลขที่มักพบบ่อย ๆ ในการใช้บ่งบอกถึงความเสี่ยงของกองทุนคือ ค่า Standard Deviation หรือค่าความผันผวนของผลการดำเนินงาน โดยที่ค่าความผันผวนบ่งบอกถึงการแกว่งตัวของผลตอบแทน ตัวอย่างเช่น กองทุน A มีผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 10% ต่อปี และค่าความผันผวนเท่ากับ 25% จากตัวเลขที่กล่าวมาเราจะพอทราบคร่าว ๆ ว่า กองทุนนี้สามารถให้ผลตอบแทนอยู่ในช่วงขาดทุน -15% หรือได้ผลตอบแทนสูงถึง 35%

ตัวเลขต่อมาที่ควรทราบคือ ค่า R-Square หรือค่าความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับตัวเลข Benchmark โดยตัวเลข R-Square มีค่าตั้งแต่ 0 จนถึง 100 ถ้าหากตัวเลขนี้มากเท่าไร แสดงว่าผลตอบแทนของเรานั้นใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัดมากเท่านั้น

ในส่วนตัวเลขสุดท้ายคือผลขาดทุนสูงสุดที่กองทุนนี้เคยประสบ หรือตัวเลข Max Drawdown นอกจากปัจจัยที่เป็นปัจจัยเชิงปริมาณแล้ว เราควรติดตามความเสี่ยงด้านปัจจัยคุณภาพ เช่น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียว เป็นต้น

3. ตัวเรารับความเสี่ยงได้หรือไม่

มาสำรวจกันต่อใน Checklist ข้อที่ 3 กันบ้าง เมื่อเราทราบคร่าว ๆ แล้วว่าผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นอย่างไร ข้อที่สามนี้เราจะกลับมาสำรวจตัวเองกันบ้าง ว่าเราโอเคไหมกับนโยบายการลงทุนที่กองทุนนี้กล่าวมา หรือยิ่งไปกว่านั้น เราโอเคกับความเสี่ยงที่ต้องเจอระหว่างลงทุนไหม เนื่องจากนักลงทุนแต่ละคนก็สามารถรับความเสี่ยงได้ไม่เหมือนกัน ในส่วนของความเสี่ยงที่รับได้ อาจจะลองดูจากค่า Max Drawdown หรือลองทำแบบทดสอบความเสี่ยงซึ่งสามารถหาได้ตามบริษัทจัดการกองทุนทั่วไปเพื่อประเมินเบื้องต้น

4. ค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร

มาถึงข้อสุดท้ายกันแล้ว ก็คือในส่วนของค่าธรรมเนียมก่อนทำการซื้อขาย เนื่องจากว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เราจะต้องถูกหักออกจากผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต โดยค่าธรรมเนียมหลัก ๆ ที่ควรรู้จักมีสองส่วน คือค่าธรรมเนียมที่กองทุนเรียกเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง โดยมีค่าธรรมเนียมหลัก ๆ อยู่สองค่า คือค่าธรรมเนียมในส่วนของ Front-End หรือค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน เก็บตอนกองทุนขายหน่วยลงทุนให้กับเรา และค่าธรรมเนียมในส่วนของ Back-End หรือค่าธรรมเนียมซื้อหน่วยลงทุน เวลาเราขายกองทุน กองทุนจะซื้อหน่วยลงทุนของเราคืนไปนั่นเอง

ในส่วนค่าธรรมเนียมอีกรูปแบบหนึ่งคือค่าธรรมเนียมที่กองทุนรวมเรียกเก็บ ซึ่งจะหักจาก NAV ของกองทุนรวมในทุก ๆ วัน โดยค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการกองทุนและดูแลผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวควรต้องตรวจสอบในหนังสือชี้ชวน เพราะกองทุนแต่ละประเภทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ไม่เท่ากัน

ทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงซ่อนอยู่ ดังนั้นการที่เราทำ Checklist ที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถลดความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนควรใช้เวลาศึกษาทุกอย่างให้รอบคอบก่อนจะนำเงินที่หามาอย่างยากลำบากไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใด ๆ ก็ตาม

เริ่มต้นลงทุนเข้าไปที่ แอป FinVest กันได้เลย
https://finvest.onelink.me/CoWV/cd81c26c
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ Line https://lin.ee/3wINMDBsz
Follow us on Website: www.finvest.co.th

————————————————–

อ้างอิง

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/risk-investment.html

ค่าธรรมเนียมกองทุนมีอะไรบ้าง? รู้ครบ จบในที่เดียว I POCKET MONEY EP19

https://www.nerdwallet.com/article/investing/mutual-fund-fees-what-investors-need-to-know

https://www.morningstar.com/invglossary/

https://citywire.co.uk/funds-insider/news/david-stevenson-my-checklist-before-buying-a-fund/a1248553

Related Posts